ประวัติคทา
จากสารานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ ๔ พิมพ์ครั้งที่ ๑ พุทธศักราช ๒๔๗๓-๒๕๐๔ รูปศัพท์ คำว่า คทา ตามรูปศัพท์เดิมในภาษาบาลีหมายถึง “ตะบอง” คืออาวุธที่ไม่มีคมชนิดหนึ่งสำหรับใช้ทุบตี ขนาดยาวประมาณหนึ่งศอก ลักษณะเป็นรูปกลมบ้างเหลี่ยมบ้าง ในโบราณเห็นจะทำด้วยไม้เนื้อแข็งเป็นพื้น เพราะเป็นอาวุธที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ แต่ในปัจจุบันอาจทำด้วยวัสดุอย่างอื่นก็ได้ เช่น ตะบองตำรวจทำด้วยยางแข็ง เป็นต้น
คทาจอมพล
คทาจอมพล หมายถึง อาวุธอย่างหนึ่ง มีรูปลักษะคล้ายคทาและกำหนดให้จอมทัพ (ผู้บังคับบัญชาสูงสุดฝ่ายทหารของประเทศ) และจอมทัพ (นายทหารยศสูงสุดของกองทัพบก) ใช้ถือเป็นเครื่องประดับเกียรติยศ เท่าที่ค้นหลักฐานได้ทราบว่าคทาจอมพลในปัจจุบันมักเป็นรูปทรงกระบอกกลม ข้างในกลวง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔-๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร น้ำหนักไม่มากนักพอที่จะถือไปด้วยมือเดียวได้สะดวก ตัวคทาอาจทำด้วยโลหะชนิดหนึ่งชนิดใดล้วนๆ หรือประกอบด้วยวัตถุอย่างอื่นอีกก็ได้ แล้วแต่ความนิยม ชาวไทยนิยมทองคำ ถือว่าเป็นของมีค่าสูง จึงทำคทาด้วยทองคำทั้งอัน แต่คทาในกองทัพชาติต่างๆ ในยุโรปมักทำด้วยเหล็กกล้า หุ้มด้วยกำมะหยี่ หนังสีต่างๆ บ้าง ตามผิวนอกของคทาทั่วไปอาจเกลี้ยง หรือประดับด้วยลวดลาย ส่วนยอดประดิษฐ์เป็นรูปสัตว์ หรือเครื่องหมายต่างๆ ซึ่งก็แล้วแต่ความนิยมอีกเช่นเดียวกัน
การคิดทำคทาขึ้น เพื่อให้นายทหารชั้นสูง ถือเป็นเครื่องประดับเกียรติยศ ในพิธีทหารที่มีเกียรติยิ่ง เช่น พิธีตรวจพลสวนสนาม พิธีปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล เป็นต้น เช่นนี้ก็เพื่อให้ทหาร และบุคคลในบริเวณพิธีเห็นแตกต่างจากนายทหารอื่นๆ ได้อย่างเด่นชัด
ตำนานคทาในสมัยดึกดำบรรพ์
ไม้ถือที่มีลักษณะยาว เรียก Scepter หากมีลักษะสั้นเรียกว่า คทา หรือ Baton การถือไม้ถือหรือคทาเพื่อเป็นเครื่องประดับเกียรติยศ หรือบอกตำแหน่งนั้น ได้ใช้กันในประเทศต่างๆ ทางริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มาแต่โบราณกาลแล้ว ทั้งในวงการทหาร วงการพลเรือน หรือทางศาสนา ดังจะเห็นได้ว่ารูปสลักของพระเจ้าตูตังคาเมน (ครองราชย์เมื่อ๘๐๗ ปีก่อนพุทธศักราช) ของอียิปต์ ทรงถือไม้ขอควบกับแส้ในขณะเสด็จออกขุนนาง ไม้ขอนี้ยาวประมาณหนึ่งศอก
ล่วงลงมาถึงสมัยกรีกและโรมันเรืองอำนาจตามลำดับ อาณาจักรทั้งสองนี้ได้รับเอาประเพณีของชาวอียิปต์ดังกล่าวมาใช้ด้วย แต่ได้ดัดแปลงรูปลักษณะของไม้ถือเหล่านั้น ให้ผิดแผกไปตามคตินิยมของตนเช่น แม่ทัพโรมันที่ไปรบมีชัยชนะศัตรูมา จะได้รับไม้ถือทำด้วยงาช้าง บนยอดประดับด้วยนกอินทรีกางปีกทำด้วยทองคำ และกำหนดไว้ให้ถือเป็นเกียรติในมือซ้าย ไม้ถือนี้จะเห็นได้จากรูปสลักเก่าๆ ของจอมทัพคนสำคัญๆ ของโรมัน เช่น ซีซ่าร์ เป็นต้น
สารานุกรม Encyclopedia des Sciences Militaries ได้ให้อรรถธิบายไว้ว่า “คทา ได้มีมาแต่โบราณกาลแล้ว ด้วยถือว่าเป็นเครื่องหมายประจำตำแหน่ง ของผู้บังคับบัญชามาตลอดมาทุกยุคทุกสมัย ดังได้ปรากฏรูปคทาอยู่ตามอนุสาวรีย์เก่าแก่ของ อียิปต์ กรีก และโรมัน คทาเหล่านั้นมีลำดับชั้นสูงต่ำไม่เท่ากัน แล้วแต่ว่าผู้มีสิทธิ์ใช้ได้นั้น จะมียศชั้นหรือขอบเขตอำนาจชั้นใด ฉะนั้น ตุลาการ แม่ทัพ ข้าหลวง ฝ่ายปกครองทั้งทหารและพลเรือน ต่างมีคทาของตนไว้แสดงอำนาจในการบังคับบัญชาด้วยกันทั้งสิ้น ธารพระกรของกษัตริย์ ก็เป็นคทาอย่างหนึ่งเช่นกัน คงแล้วแต่ระดับสูงต่ำของอำนาจและหน้าที่ของผู้ได้รับคทานั้น”
ต่อมา ประเพณีได้แพร่ออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป โดยได้ดัดแปลง ตกแต่งรูปลักษณะเสียใหม่ ส่วนการใช้มือถือคทาในประเทศต่างๆ ในภาคตะวันออกของโลกนั้นได้ทราบแต่เพียงว่า ในสมัยหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินจีนทรงมอบ ตะบองอาญาสิทธิ์แก่ขุนนางผู้ใหญ่ เพื่อเป็นเครื่องหมาย แสดงถึงอำนาจการบังคับบัญชาผู้คน นอกจากนั้น ประเพณีของไทย พม่าและชาติอื่นๆ ให้เป็นเครื่องประดับเกียรติยศ แก่ขุนนางชั้นสูงอีกด้วย
อนึ่ง สันนิษฐานกันว่าคทาจอมพลในสมัยปัจจุบันนี้ คงเนื่องมาจากประเพณีโบราณ ที่บรรจุม้วนเอกสารตราตั้งตำแหน่ง ลงในกระบอกที่แม่ทัพจะต้องนำไปแสดง ในที่ประชุมกองทัพ โดยเพียงแต่ชูขึ้นให้เห็นทั่วกันเท่านั้นก็พอ แม่ทัพจึงต้องรักษากระบองนี้ไว้กับตัวเสมอ ในสมัยต่อๆ มาได้ดัดแปลงกระบองนี้ให้เป็นเครื่องประดับตำแหน่ง แล้วมาเป็นเครื่องประดับยศของจอมพลทั่วโลก วิธีการชูกระบองเพื่อให้แม่ทัพนายกองชั้นรองๆ เห็นนี้เองกลายมาเป็นพิธีแสดงการเคารพ และการรับการเคารพของจอมพลบางประเทศ ด้วยการชูคทาขึ้นแค่ขอบหมวกในปัจจุบัน
คทาจอมพลของประเทศฝรั่งเศส
สารานุกรม Encyclopedia des Sciences Militaries ที่ได้อ้างมาแล้วในตอนต้น ได้กล่าวอีกว่าในกองทัพฝรั่งเศส ได้เริ่มใช้คทาเป็นเครื่องหมายอำนาจ ในการบังคับบัญชาของแม่ทัพใหญ่อย่างแท้จริง ใช้ในสมัยพระเจ้าฟิลิปป์ที่ ๒ หรือที่เรียกกันว่า ฟิลิปป์ ออกัสต์ (Philippe Auguste พุทธศักราช ๑๗๐๘-๑๗๖๖) ในพุทธศักราช ๒๑๘๗ ดยุคอองเชียง (Duc dE chien) ผู้ซึ่งต่อมาได้สมญานามว่า “คองเดผู้ยิ่งใหญ่” (Grand Conde) ได้นำกำลังทหารเข้าโจมตีเมืองฟรีบูร์ก (Fribourg) ด้วยการขว้างคทาของพระองค์ เข้าไปในแนวทหารของข้าศึกก่อน แล้วให้ทหารฝ่าตามเข้าไปเก็บคทาคืนมาให้ได้
จากนั้น จอมพลของกองทัพฝรั่งเศส ได้รับคทาเป็นเกียรติยศต่อๆ มาจนถึงทุกวันนี้ รูปร่างส่วนรวมคงหมือนคทาอันแรกๆ เว้นแต่ลวดลายประดับภายนอก ได้เปลี่ยนแปลงไปตามความนิยม และพอพระทัยของกษัตริย์ในสมัยนั้นๆ ดังจะเห็นว่าตัวคทาในสมัยแรก ทำด้วยเหล็กกล้าเป็นรูปทรงกระบอกกลวงยาว ๕๐ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๔.๕ เซนติเมตร ภายนอกหุ้มด้วยกำมะหยี่สีน้ำเงินสด และบนพื้นกำมะหยี่ประดับด้วย เครื่องหมายของดอกพลับพลึงสามดอก (Fleur-de-Lis) เรียงทแยงทั้งอัน ทั้งนี้เพราะเครื่องหมายนี้ เป็นตราพระลัญจกรของพระเจ้าฟิลิปป์ออกัสต์ในสมัยนั้น ครั้นถึงสมัยของพระเจ้านโปเลียนที่ ๑ ได้เปลี่ยนเป็นรูปช่อดอกพลับพลึง ต่อมาเป็นรูปนกอินทรีกางปีก
ต่อมาเมื่อถึงสมัยพระราชวงศ์บูร์บองส์ (พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ และพระเจ้าชาลล์ที่ ๑๐) ได้เปลี่ยนไปใช้เครื่องหมายช่อดอกพลับพลึงสามดอกอีกครั้งหนึ่ง และในพุทธศักราช ๒๓๗๓ ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปป์ ได้เปลี่ยนมาใช้รูปดาวประดับแทนในที่สุด เมื่อพุทธศักราช ๒๓๙๔ ได้เปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งหลังสุด โดยประดับรูปนกอินทรีกางปีก ซึ่งได้ใช้มาจนถึงทุกวันนี้
คทาจอมพลของกองทัพอังกฤษ
แม้ว่ากองทัพอังกฤษจะได้แต่งตั้งยศจอมพลทหารบกให้แก่ เอิร์ล ออร์คเนย์ (Earl of Orkney) เป็นคนแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๒๗๙ แต่ก็ยังมิได้สร้างคทาให้ถือว่าเป็นเกียรติยศด้วย จนกระทั้งเมื่อดยุค เวล ลิงตัน (Duke of Wellington) ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นจอมพลทหารบก เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๓๕๖ ทางราชการอังกฤษจึงได้สร้างคทาให้ถือเป็นครั้งแรก
คทาจอมพลกองทัพของอังกฤษทำด้วยทองคำ ตรงกลางเป็นรูปทรงกระบอกกลมเล็ก และยาวกว่าคทาจอมพลของไทย ก้านกลางหุ้มกำมะหยี่สีแดงแก่ มีรูปสิงโตเล็กๆ ติดทแยงตลอด บนยอดที่ผายออกมีรูปเซนต์ยอร์จ กำลังสังหารมังกรร้าย ตอนท้ายบานออกเป็นแบบเชิงเทียนกลม
คทาจอมพลของกองทัพเยอรมัน
จากการสอบสวนทราบแต่เพียงว่า ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่แล้วมานี้ กองทัพทั้งสามเหล่าของเยอรมัน มีจอมพลที่ได้รับคทาอยู่หลายคน คทาเหล่านั่นเป็นรูปทรงกระบอกกลวง ทำด้วยเหล็กกล้า หุ้มด้วยหนังสีแดง บนหนังมีรูปนกอินทรีกางปีกติดทแยงกับสวัสดิกะเล็กๆ โดยรอบ เว้นแต่จอมพลเกอริงได้รับคทาพิเศษ หุ้มด้วยหนังสีขาว ด้วยเหตุผลที่จอมพลในกองทัพเรือและกองทัพอากาศ ได้รับคทาด้วยนั่นเอง
คทาจอมพลของกองทัพไทย
ในขณะที่กิจการทหารของประเทศไทย ยังจัดตามแบบโบราณ แบ่งอำนาจการสักเกณฑ์ และการระดมพลให้ขึ้นอยู่ในอำนาจของมหาดไทย กลาโหมและกรมเท่านั้น มีข้าราชการเพียงพวกเดียว มิได้แบ่งเป็นข้าราชการพลเรือน เหมือนในปัจจุบัน เพราะทั้งสองแผนกนี้รวมกันอยู่ในตัวข้าราชการคนเดียวกัน ในยามปกติก็บริการกิจการพลเรือน พอเกิดสงครามขึ้นก็จับอาวุธโดยหันไปบริหารกิจการทหารทันที
การจัดการปกครองแบบดังกล่าวนี้ ในสมัยแรกๆ อาจจะเกิดความสับสนไม่เป็นระเบียบอยู่บ้างแต่ เมื่อถึงแผ่นดินสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พุทธศักราช ๑๙๗๗) จึงได้ปรับปรุงแก้ไขใหม่ โดยทรงตั้ง “ทำเนียบศักดินา” ขึ้นเป็นเครื่องเทียบระดับยศชั้น ของประชาชนทั้งประเทศ สำหรับข้าราชการอาจจะมีศักดินาสูงสุดได้เพียง ๑๐,๐๐๐ ไร่ คือ ชั้น “เจ้าพระยา” และชั้น “พระยา” ดังที่มีคำกล่าวว่า “พระยานาหมื่น” ตามทำเนียมโบราณ เจ้าพระยาและพระยานั้นมีอยู่ในราชการเพียง ๑๙ ตำแหน่ง เท่านั้น (ภายหลังมีพระยานอกทำเนียบขึ้นอีกมากมายหลายตำแหน่ง แต่มีศักดินาไม่ถึงขั้น “พระยานาหมื่น”)
เครื่องยศระหว่าง “เจ้าพระยา” กับ “พระยา” ที่กล่าวถึงนี้ มีส่วนแตกต่างกันหลายอย่าง แต่ในบรรดาเครื่องยศเหล่านั้น จะมี “ดาบ” เป็นเครื่องประดับเกียรติยศ เช่นเดียวกับคทารวมอยู่ด้วยอีกอย่างหนึ่ง และระหว่างดาบเครื่องประดับเกียรติยศของ “เจ้าพระยา” กับของ “พระยา” นี้ ย่อมมีลักษณะแตกต่างกัน เพื่อแสดงความสูงต่ำอยู่บ้างเป็นธรรมดา
ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะได้ทรงปรับปรุงกิจการทหาร ของประเทศไทย ให้เป็นแบบใหม่ทั้งหมด โดยทรงตั้งกรมยุทธนาธิการขึ้นก่อน เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๐ แล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงใช้ ”ศักดินา” ควบกับยศของทหารอยู่ และยศทหารที่สูงสุดขณะนั้นมีเพียง “นายพันเอก” ยศ “จอมพล” ยังไม่มี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๓ จึงได้ทรงตั้งตำแหน่ง ”ที่จอมพล” (Commander-in-Chief) ขั้นตามพระราชบัญญัติจัดกรมยุทธนาธิการ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๓๓ แต่พึงเข้าใจว่า ”ที่จอมพล” นี้เป็นเพียงตำแหน่งเท่านั้น ฉะนั้น ”ที่จอมพล” ที่ตั้งขึ้นนี้จึงไม่มีคทาจอมพล สำหรับ ผู้ที่ได้ตำแหน่ง ”ที่จอมพล” คนแรกในครั้งนั้นคือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
จากการค้นคว้าและได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคทาของกองทัพไทยมีอยู่ ๓ ประเภทดังนี้
คทาจอมพลประเภทที่ ๑ เป็นคทาเครื่องต้นของพระมหากษัตริย์ มี ๕ องค์
องค์ที่ ๑
เป็นคทาที่ พลโท พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล่าเจ้าอยู่หัว ในนามกองทัพบกเมื่อ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๔๖ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธี ทวีธาภิเษกสมโภช (ทรงครองราชย์นานเป็นสองเท่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
ลักษณะคทาจอมพลองค์แรกนี้ เป็นรูปทรงกระบอกยาวประมาณ ๓๕ เซนติเมตร ตรงยอดเป็นรูปช้างสามเศียรลงยาสีขาวเหนือหัวช้างขึ้นไปเป็นพระเกี้ยว ตอนท้ายเป็นทรงกระบอกตัด องค์พระคทาทำด้วยทองคำหนักประมาณ ๔๐ บาท และใต้หัวช้างลงมามีลายนูนเป็นรูปหม้อกลศ ซึงหมายถึงการทูลเกล้าถวายเนื่องในพิธีทวีธาภิเษก นั่นเอง
พระคทาจอมพลองค์แรกนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นประจำตลอดรัชกาล
![]() พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถือพระคทาจอมพลที่กองทัพบกได้สร้างทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๖ |
![]() พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงถือพระคทาจอมพลองค์ที่ ๑ (ที่กองทัพบกได้สร้างทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๖) ตลอดรัชการ |
![]() พระคทาจอมพลองค์ที่ ๑ |
องค์ที่ ๒
ในวันที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๓ พลเอก พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ทูลเกล้าฯ ถวาย พระคทาแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ลักษณะพระคทาจอมพลองค์ที่ ๒ นี้ มีลักษณะส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับพระคทาองค์แรกมาก ต่างกันตรงยอด ซึ่งแต่เดิมเป็นรูปช้างสามเศียรและพระเกี้ยว ส่วนองค์ที่ ๒ นี้ทำเป็นยอดมงกุฎและมีลายเฟืองอยู่ที่แกนกลาง ใต้ฐานยอดของมงกุฎโดยรอบ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระคทาจอมพลองค์นี้ในตอนต้นๆ รัชกาลเท่านั้น
![]() พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถือพระคทาที่กองทัพบกสร้างทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๓ (จาก A Half Century among the Siamese adn Lao) |
![]() พระคทาจอมพลองค์ที่ ๒ |
องค์ที่ ๓
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานแบบพระคทาขึ้นใหม่ มีลักษณะป่องตรงกลางและคอดเรียวไปทางด้านยอดและด้านปลาย ตรงยอดพระคทาเป็นรูปพระครุฑพ่าห์ ลงยาตามแบบพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน และใต้พระครุฑพ่าห์เป็นลูกแก้ว รองฐานบัวหงาย ลงยาราชาวดี ส่วนด้านบนปลายมีลูกแก้วและยอดบัวกลุ่มสี่ชั้น ลงยาราชาวดีเช่นกัน
พระคทาจอมพลองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้มาตลอดรัชกาล นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้พระคทาจอมพลองค์นี้เป็นครั้งคราว
![]() |
![]() พระคทาจอมพลองค์ที่ ๓ |
องค์ที่ ๔
ในวันที่ ๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๙ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทูลเกล้าฯ ถวายพระคทาจอมทัพภูมิพล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุเข้าปีที่ ๔๐ เพื่อเป็นเครื่องหมายของความจงรักภัคดีของข้าราชการทหารทุกนาย
ที่มา : หนังสือ คทาจอมพล โดย กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ลักษณะทั่วไป เหมือนพระคทาจอมพลองค์ที่๓ คือองค์พระคทา ทำด้วยทองคำหนัก ๔๓ บาท แกนกลางป่อง เรียวไปทางด้านยอดและปลาย ประกอบด้วยเครื่องหมายมงคลแปด ซึ่งถือกันว่าเป็นนิมิตหมายแห่งความมงคลในศาสนาพราหมณ์ ด้านยอดมีพระครุฑพ่าห์ลงยา และลูกแก้วฐานบัวหงาย ลงยาราชาวดี ด้านปลายมีลูกแก้วและยอดบัวกลุ่มสี่ชั้น ลงยาราชาวดี ส่วนที่ต่างออกไปคือเหนือพระครุฑห์พ่าห์มีพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ฝังเพชรอยู่ในกรอบรูปไข่ และมีรูปพระมหาภิชัยมงกุฎทองฝังเพชรอยู่เบื้องบนตอนปลาย ต่อจากเครื่องหมายมงคลแปดมีเครื่องหมายกระทรวงกลาโหม
![]() |
![]() |
![]() พระคทาจอมทัพภูมิพล |
องค์ที่ ๕
ในวันที่ ๒๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๓๙ กองทัพไทย โดย พลเอกวิโรจน์ แสงสนิท ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้มอบหมายให้ พลเอก มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เสนาธิการทหารรับผิดชอบเป็นปรธานคณะทำงานการจัดสร้างพระคทาจอมทัพไทย และพลโท รัตนะ เฉลิมแสนยากร ผู้อำนวยการสำนักงานสารนิเทศ (ปัจจุบันคือ กรมกิจการพลเรือนทหาร) ได้รับมอบหมายให้ประสานกับกรมศิลปากรกระทรวงศึกษาธิการ ในการออกแบบและจัดสร้างพระคทาจอมทัพไทย ทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในวโรกาสฉลองศิริราชสมบัติ เป็นปีที่ ๕๐ ปีกาญจนาภิเษก
เป็นพระคทาที่สร้างด้วยทองคำบริสุทธิ์หนัก ๕๐ บาท ทรงกลมเรียวไปทางด้านบนและด้านล่าง ตรงกลางป่องเล็กน้อย ส่วนยอดพระคทาเป็นรูปช้างเอราวัณทองคำ ประดับไพลินเทินพระแท่นอัฐทิศทองลงยา ประดิษฐานพระอุณาโลมสีทองประดับเครื่องเพชรในกงจักรทอง ไส้กรงจักรลงยาสีน้ำเงิน วงขอบกงจักรลงยาสีแดงเปร่งรัศมีทอง มีฉัตรเจ็ดชั้น ประกอบทั้งสี่ทิศอยู่ภายใต้พระมหาเศวฉัตรและฉัตรซึ่งมีตราพระราชลัญจกร ตราประจำพระองค์รัชการที่ ๙ ส่วนของของพระมหาเศวตฉัตรและฉัตรประกอบทั้ง ๔ ทิศ ประดับเพชร ทั้งหมดนี้จะเทินบนเศียรของช้างเอราวัณ ๔ เศียร ซึ่งเป็นทองคำ ทรงเครื่องพระคชาธารเป็นเทพพาหนะยื่นอยู่เหนือก้อนเมฆ และก้อนเมฆรองรับด้วยบัวรองสองชั้นตรงกลางท้องด้าม ส่วนบนเป็นตราปีกาญจนาภิเษก ส่วนล่างเป็นตรากองบัญชาการทหารสูงสุด
![]() พระคทาจอมทัพไทย |
คทาประเภทที่ ๒ เป็นพระคทาสำหรับพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งดำรงพระยศจอมพล หรือพลเอก (อัตราจอมพล)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๓ เพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ดำรงพระยศจอมพล ๔ พระองค์คือ
![]() พระคทาจอมพล ที่เคยพระราชทานแด่ พระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งดำรงพระยศจอมพล |
องค์ที่ ๑ จอมพล สมเด็จพระราชบิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ได้รับพระราชทานเมื่อ ๑๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ เมื่อทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และจเรทหาร
องค์ที่ ๒ จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ได้รับพระราชทาน เมื่อ ๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๕๔ เมื่อทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม
องค์ที่ ๓ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พุทธศักราช ๒๔๖๐ เมื่อทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก
องค์ที่ ๔ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้รับพระราชทานเมื่อ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๖๓ เมื่อทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก
ลักษณะคทา แกนกลางเป็นรูปทรงกระบอกกลวง ทำด้วยทองคำขัดเกลี้ยง แต่ที่ตัวพระครุฑพ่าห์กับลายดอกที่ฐานของพระครุฑพ่าห์ และที่หัวเม็ดตอนท้ายได้ลงยาสีต่างๆ งดงามเป็นพิเศษ
สร้างด้วยทองคำหนักราว ๔๐ บาท แกนกลางของกระบอกซึ่งข้างในกลวงยาว ๒๒.๔ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒.๕ เซนติเมตร ตอนยอดที่เป็นตัวพระครุฑพ่าห์ทองคำลงยาสูง ๘.๕ เซนติเมตร ตอนท้ายทำเป็นหัวเม็ดทองคำลงยา สูง ๘.๕ เซนติเมตร ตอนท้ายทำเป็นหัวเม็ดทองคำลงยาสูง ๔ เซนติเมตร (เปิดไม่ได้) มีจารึกพระนามจอมพลที่ได้รับพระราชทาน
|
องค์ที่ ๕ พระคทาจอมพล
![]() พระคทาจอมพล ที่พระราชทานแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ |
จอมพลหญิง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยกองทัพไทยจัดสร้างถวาย เนื่องในวโรกาสได้รับพระราชทานพระยศเป็นจอมพลหญิง จอมพลเรือหญิง จอมพลอากาศหญิง พระองค์แรกของชาติไทยและของโลกเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๕ และวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิงหาคมพุทธศักราช ๒๕๔๐ ทรงเป็นสตรีที่ได้รับพระราชทานเป็นพรองค์แรกของประเทศไทย ด้วยทรงมีพระปรีชาสามารถล้ำ ทรงเป็นคู่บารมีช่วยเหลือพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในทุกด้าน ทั้งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อกองทัพอย่างอเนกอนันต์
ลักษณะคทาจอมพลเป็นรูปทรงกระบอกกลวง ตรงกลางป่องเล็กน้อยและคอดเรียวไปทางด้านยอด ด้านปลาย มีความยาว ๓๕ เซนติเมตร จัดสร้างด้วยทองคำบริสุทธิ์หนัก ๓๕ บาท ส่วนที่กว้างที่สุดตรงกึ่งกลางมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓.๕ เซนติเมตร ยอดของพระคทาเป็นรูปพระครุฑพ่าห์ลงยา ตามแบบพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน ส่วนยอดของพระครุฑพ่าห์ประกอบด้วยเพชรเจียระไนตรงกลางพระคทาเป็นพระนามาภิไธย “ส.ก.” อยู่ใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ด้านใต้พระนามาภิไธย จารึกพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยวันเดือนปีที่ได้รับพระราชทานพระยศเป็นจอมพล มีเครื่องหมายกองบัญชาการทหารสูงสุด ลักษณะนูนต่ำเป็นทองเรียบมันอยู่ด้านล่าง ด้านตรงข้ามกับพระนามาภิไธย “ส.ก.” เพื่อแสดงว่ากองบัญชาการทหารสูงสุดได้จัดสร้างขึ้นเพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย ด้ามพระคทาประกอบด้วยนพรัตน์จำนาน ๙ เม็ด หนักประมาณ ๑ กระรัตต่อเม็ด ซึ่งแสดงให้ทราบว่าได้จัดสร้างขึ้นในรัชสมัยรัชการที่ ๙ โดยใช้เพชรเจียระไนจำนวน ๑๕๙ เม็ด หนักประมาณ ๑๐ สตางค์ต่อเม็ด ทับทิม มรกต และไพลิน จำนวน ๙๐ เม็ด หนักประมาณ ๑๐ สตางค์ต่อเม็ด ใช้เวลาจัดสร้างน้อยมากพียง ๕๔ วันเท่านั้น แต่มีความงดงามเหมาะสมกับพระอิสริยยศอย่างยิ่ง
![]() จอมพลหญิง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ |
องค์ที่ ๖ พระคทาจอมพล
พลเอกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดสร้างพระคทาจอมพลและทูลเกล้าฯ ถวาย พลเอกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ ๔ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๓
![]() ![]() พระคทาจอมพล ทูลเกล้าฯ ถวาย พลเอกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร |
![]() พลเอกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร |
คทาจอมพลประเภทที่ ๓ เป็นคทาสำหรับจอมพลทั่วไป
จัดสร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับพระราชทานแก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ดำรงยศเป็นจอมพล ซึ่งได้พระราชทานมาแล้วจนถึงปัจจุบันมี ๙ ท่านคือ
จอมพล เจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต (ม.ร.ว.อรุณฉัตรกุล) ได้รับพระราชทานเมื่อ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๖๐ ขณะที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม
จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ผู้บัญชาการทหารบกคนแรก ได้รับพระราชทานเมื่อ ๓๐ มีนาคม ๒๔๘๔
จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ได้รับพระราชทานเมื่อ ๓๑ มีนาคม ๒๔๙๖ ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ในสมัยรัชกาลที่ ๙)
จอมพลอากาศ ฟื้น รณภากาศ ฤทธาคธานี ได้รับพระราชทานเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๙๗
จอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล ได้รับพระราชทานเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๙๗
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัตน์ ได้รับพระราชทานเมื่อ ๑ มกราคม ๒๔๙๙ ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ในสมัยรัชการที่ ๙)
จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้รับพระราชทานเมื่อ ๑๐ มกราคม ๒๕๐๗ ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายกรัฐมนตรี (ในสมัยรัชการที่ ๙)
จอมพล ประภาส จารุเสถียร ได้รับพระราชทานเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก นับเป็นคทาจอมพลอันสุดท้ายที่มีการพระราชทานแก่จอมพล
ลักษณะคทา เป็นคทาไม่ลงยา ทำด้วยทองคำหนักราว ๕๐ บาท ตัวกระบอกแกนกลางยาว ๒๔.๕ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒.๕ เซฯติเมตร (ข้างในกลวง) ยอดมีตัวพระครุฑพ่าห์ ทองคำขัดเกลี้ยงสูง ๙ เซนติเมตร ตอนท้ายเป็นหัวเม็ด ทองคำขัดเกลี้ยง สูง ๕ เซนติเมตร (เปิดท้ายได้) มีจารึก นามจอมพลที่ได้รับพระราชทาน พร้อมทั้งวัน เดือน ปี ที่พระราชทาน
![]() จอมพล เจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต (ม.ร.ว.อรุณฉัตรกุล) |
![]() จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) |
![]() จอมพล ผิน ชุณหะวัณ |
![]() จอมพลอากาศ ฟื้น รณภากาศ ฤทธาคธานี |
![]() จอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล |
![]() จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัตน์ |
![]() จอมพล ถนอม กิตติขจร |
![]() จอมพล ประภาส จารุเสถียร |
ที่มา : หนังสือ คทาจอมพล โดย กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ